นครเปตรา จอร์แดน

นครเปตรา นครศิลาสีชมพู ที่ซุกซ่อนอยู่ในหุบเขาวาดีมูซา ริมทะเลทรายอาหรับของจอร์แดน ถูกทิ้งร้างกว่า 700 ปี ก่อนที่โยฮันน์ ลุดวิก เบิร์กฮ่ร์คต์ นักสำรวจชาวสวิสจะเดินทางมาพบเมื่อปี 1812 สิ่งก่อสร้างที่ยังคงอยู่ในปัจจุบันได้แก่ ถนนสายหลักที่ทอดขนานแม่น้ำวาดีมูซา อาคารบ้านเรือน วิหาร สุสาน และโรงละครหินครึ่งวงกลมซึ่งจุผู้ชมได้ 4,000 คน องค์การยูเนสโกประกาศให้นครเปตราเป็นมรดกโลกเมือ่ปี 1985


แม้จะมีร่องรอยของชนชาติอื่นๆอาศัยอยู่ในนครเปตราก่อนหน้านี้ แต่ชาวนาบาเทียซึ่งเข้ามาตั้งรกรากระหว่างทะเลสาบเดดซีกับทะเลอักบา เมื่อราวศตวรรษที่สองก่อนคริสต์ศักราช คือผู้สร้างเมืองนครเปตรา พวกเขาอาศัยอยู่ในถ้ำที่มีอยู่ทั่วเมือง ทำการค้า เก็บค่าผ่านทาง และเป็นยามรักษาความปลอดภัยให้กองคาราวาน จนกระทั่งมั่งคั่งพอที่จะสร้างอาณาจักรเป็นปึกแผ่น รับอารยธรรมกรีกเข้ามาผสมผสาน รู้จักสร้างบ้านเรือน วิหาร สุสาน โรงละครขนาดใหญ่ ถนนหนทาง ไปจนถึงการสร้างรูปปั้น ผลิตถ้วยโถโอชาม อันเป็นตัวอย่างของวัฒนธรรมในตะวันออกกลางที่โดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่ง และที่สำคัญที่สุด ชาวนาบาเทียเป็นเจ้าของเทคโนโลยีการชลประทานและการทดน้ำ ซึ่งเห็นได้จากหลักฐาน เช่น ท่อลำเลียง น้ำ ทำด้วยดินเหนียว เส้นผ่านศูนย์กลาง 7 นิ้ว


นครเปตราเจริญรุ่งเรืองเนื่องจากเป็นแหล่งน้ำสำคัญกลางทะเลทราย และตั้งอยู่บนเส้นทางการค้าสำคัญสองสาย ทั้งเส้นทางสายตะวันออก-ตะวันตก ที่เชื่อมระหว่างคาบสมุทรอาหรับกับอ่าวเปอร์เซียไปถึงทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และสายเหนือ-ใต้ ที่เชื่อมทะเลแดงกับกรุงดามัสกัสของซีเรีย บันทึกของสตราโบ นักภูมิศาสตร์ชาวกรีก บอกว่า นครเปตราเป็นตลาดขายสินค้าสำคัญที่สุดของโลกตะวันออก ทั้งยางไม้หอม กำยาน เครื่องเทศ ทองแดง เหล็ก เครื่องปั้นดินเผา และผ้าย้อม ล้วนลำเลียงผ่านนครเปตราทั้งสิ้น แต่เมื่อเกิดเส้นทางการค้าใหม่ที่ปลอดภัยและสะดวกกว่า นครเปตราก็เริ่มเสื่อมถอย ก่อนถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโรมันในปี ค.ศ. 106 อีกทั้งแผ่นดินไหวเมื่อราวปี ค.ศ. 363 ก็ได้ทำลายอาคารและระบบชลประทานลง หลังจากถูกมุสลิมยึดครอง นครเปตราก็ค่อยเลือนหายไปจากความทรงจำของผู้คน


ในปี 1812 โยฮันน์ ลุดวิก เบิร์กฮาดต์ นักสำรวจชาวสวิส ได้ผ่านไปพบหน้าผาอันใหญ่โตของนครเปตราและจดบันทึกไว้โดยไม่ได้ลงไปสำรวจ ถึงแม้จะเป็นบันทึกเล็กๆ แต่เบิร์ฮาดต์ก็ถือเป็นชาวยุโรปคนแรกที่ได้ไปเยือนนครเปตรา และนำนครที่ถูกลืมสู่สายตาชาวโลกอีกครั้งในหนังสือ Travels in Syria and the Holy Land ใช้ชื่อผู้แต่งว่า John Lewis Burckhardt

0 Response to "นครเปตรา จอร์แดน"

แสดงความคิดเห็น