ชีเชนอิตซา เม็กซิโก

ซากปรักหักพังของนครชาวมายาอันลี้ลับ ชีเชนอิตซา (ChichénItzá) อันมีความหมายว่า ปากบ่อน้ำของชาวอิตซา ดึงดูดความสนใจของนักโบราณคดี นักสำรวจ และนักประวัติศาสตร์ มานับตั้งแต่มีการค้นพบ ดั้บการพรรณนาเป็นครั้งแรกโดยท่านบิชอปเดียโก เด ลันดา (Diego de Landa) ผู้เขียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของยูคาทาน (Ydcatán) เมื่อปลายศตวรรษที่ 16 นครชีเชนอิตซารุ่งเรืองสูงสุดประมาณปี ค.ศ. 600-1200 เป็นไปได้ว่าที่นี่คือศูนย์กลางหลักด้านศาสนาและการเมืองของทั่วบริเวณคาบสมุทรยูคาทาน โบราณสถานแห่งนี้ประกอบด้วยอาคารหินที่ตกแต่งและออกแบบอย่างวิจิตรบรรจงไว้มากมายหลายแห่ง อาทิ วิหารพีระมิด พระราชวัง หอดูดาว โรงอาบน้ำ และสนามบอล ทั้งหมดนี้สร้างขึ้นโดยไม่มีการใช้เครื่องมือโลหะเลย แต่ด้วยเหตุผลกลใดไม่ทราบแน่ชัด ชาวมายาเริ่มผละจากชีเชนอิตซาไปตั้งแต่ราวต้นศตวรรษที่ 13 ก่อนซากนครจะถูกกลืนหายไปในป่าชัฏ


การมีอยู่ของชีเชนอิตซาเป็นที่รู้กันมานานหลายศตวรรษแล้วหลังถูกทิ้งร้าง แต่ก็หาได้มีการสำรวจซากนครแห่งนี้จวบจนปลายทศวรรษ 1830 นับตั้งแต่ปี 1839-1842 นักสำรวจและนักเขียนชาวอเมริกัน จอห์น ลอยด์ สตีเฟนส์ (John Lloyd Stephens) ร่วมด้วยสถาปนิกและนักเขียนแบบ เฟรเดอริค เคเธอร์วูด (Frederick Catherwood) ได้เดินทางท่องทั่วอเมริกาใต้ โดยไปเยือนโบราณสถานแห่งนี้นับครั้งไม่ถ้วน ผลจากการศึกษาค้นคว้าของพวกเขาปรากฎเป็นหนังสือสำคัญสองเล่ม คือ Incidents of Travel in Central America, Chiapas and Yucatán (1841) กับ Incidents of Travel in Yacatán (1843) ทั้งสองเล่มเขียนโดยสตีเฟนส์ และวาดภาพประกอบโดยเคเธอร์วูด

ระหว่างปี 1875 และ 1883 นักสะสมโบราณวัตถุและนักถ่ายภาพชาวฝรั่งเศส ออกุสตุส เลอ ปลงเฌออง กับ อลิซ ภรรยา ได้ลงมือขุดค้นชีเชนอิตซาเป็นครั้งแรก และบันทึกภาพสามมิติของนครโบราณไว้อย่างน่าอัศจรรย์ อย่างไรก็ดี ข้อสรุปของปลงเฌอองเกี่ยวกับชาวมายานั้นออกจะคลุมเครือภายใต้ม่านหมอกความเชื่อของเขาที่ว่า อเมริกาใต้คือจุดกำเนิดอารยธรรมของโลก


หลังจากนั้นก็ยังมีคณะสำรวจอื่น ๆ มาเยือนที่นี่ไม่ขาด อาทิเช่น คณะของทีโอแบร์โต มาแลร์ (Teoberto Maler) ผู้มีเชื้อสายอิตาเลียน ได้มาใช้ชีวิตอยู่ที่ชีเชนอิตซาร่วมสามเดือนในทศวรรษ 1880 มาแลร์จดบันทึกทุกซอกมุมของซากนครโบราณอย่างละเอียดยิ่งกว่าผู้ใดก่อนหน้านี้ และในปี 1889 อัลเฟรด พี. โมดสเลย์ (Alfred P.Maudslay) ทูตอังกฤษ ประเทศเจ้าอาณานิคม โมดสเลย์ซึ่งเป็นนักสำรวจและนักโบราณคดีด้วย ได้มาสำรวจและถ่ายภาพซากนคร ต่อมาผู้ช่วยของเขา เอ็ดเวิร์ด เอช. ทอมป์สัน (Edward H. Thompson) กงสุลสหรัฐฯ ในยูคาทาน ได้ย้ายมาอยู่ในชีเชนอิตซาพร้อมด้วยภรรยาชาวมายา เขาใช้เวลาร่วม 30 ปี ดำเนินการศึกษาสำรวจท่ามกลางซากปรักหักพัง รวมทั้งขุดหาศิลปวัตถุที่ทำด้วยทองแดง ทองคำ หยก และกระดูกมนุษย์ จากบ่อน้ำหินปูนศักดิ์สิทธิ์ (Sacred Cenote)

0 Response to "ชีเชนอิตซา เม็กซิโก"

แสดงความคิดเห็น