น้ำตกแม่ยะ จ.เชียงใหม่

น้ำตกแม่ยะ เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ที่มีความสวยงามมาก มีขนาดใหญ่ที่สุด สวยที่สุด และสูงที่สุดของของบรรดาน้ำตกในอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เคยได้รับการจัดอันดับเป็นน้ำตกที่สวยที่สุดของประเทศไทย ก่อนมีการค้นพบน้ำตก ทีลอซู ที่จังหวัดตาก สายน้ำจากลำห้วยแม่ยะตกจากหน้าผาสูงชันไหลลดหลั่นลงมาประมาณ 30 ชั้น รวมความสูงกว่า 260 เมตร ในช่วงฤดูฝนสายน้ำตกจะแผ่กว้างถึง 100 เมตร เหมือนกับม่านน้ำ แล้วไหลลงไปรวมกันที่แอ่งน้ำเบื้องล่าง ดูสวยงามมาก บางช่วงของหน้าผา เป็นชะง่อนหินให้นักท่องเที่ยวเข้าไปหลบละอองไอน้ำที่ตกกระทบมองดูเหมือน ม่านหมอกสีขาวสะอาดตา สัมผัสกับความงดงามของธรรมชาติอีกรูปแบบหนึ่ง แล้วลงเล่นน้ำที่แอ่งด้านล่างอย่างสนุกสดชื่น น้ำตกแม่ยะในฤดูแล้งปริมาณน้ำอาจลดน้อยลง แต่สายน้ำตกจะใสสะอาดกว่า รอบๆบริเวณน้ำตกแม่ยะ เป็นป่าไม้พรรณไม้ร่มรื่น เหมาะสำหรับการไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ ทางด้านท้ายน้ำตกแม่ยะ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต ได้ติดตั้งโรงไฟฟ้าพลังน้ำ เพื่อนำน้ำมาผลิตกระแสไฟฟ้าอีกด้วย นักท่องเที่ยวสามารถกางเต้นท์พักแรมที่น้ำตกแม่ยะได้


ความอุดมสมบูรณ์ ความชุ่มชื้นในผืนป่าสูงของยอดดอยอินทนนท์ ซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดของประเทศ นอกจากจะเป็นแหล่งต้นกำเนิดของน้ำตกแม่ยะแล้ว ยังเป็นแหล่งให้กำเนิดน้ำตกที่สวยงามอื่นๆอีกด้วย น้ำตกสวยงามอื่นๆบนดอยอินทนนท์นั้น จะอยู่ริมเส้นทางขึ้นสู่ยอดดอย เช่น น้ำตกแม่กลาง น้ำตกวชิรธาร และ น้ำตกสิริภูมิ


น้ำตกปูแกง จ.เชียงราย

น้ำตกปูแกง อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยหลวง ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย น้ำตกปูแกงเป็นน้ำตกหินปูนขนาดใหญ่ซึ่งเกิดจากการทับถมของหินปูนที่ไหลปะปนมากับสายน้ำทำให้เกิดเป็นหินงอกหินย้อย น้ำตกแห่งนี่มีทั้งหมด 9 ชั้น แต่ละชั้นมีลีลาการไหลที่งดงามและอ่อนนุ่มแตกต่างกันออกไป น้ำตกทุกชั้นมีแอ่งน้ำทำให้นักท่องเที่ยวสามารถลงเล่นน้ำได้ และภายในบริเวณน้ำตกยังมีถ้ำตื้นมากมายหลายแห่ง น้ำตกแห่งเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาพักผ่อนในวันหยุดสุดสัปดาห์เป็นประจำเพราะการเดินทางที่สะดวก



บริเวณน้ำตกนี้ยังเป็นแหล่งรวมของพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์นานาชนิด และท่านที่สนใจชมธรรมชาติที่หลากหลาย ทางอุทยานแห่งชาติดอยหลวงได้จัดเส้นทางศึกษาธรรมชาติไว้บริการ การเดินทางไปน้ำตกมีทางแยกจากถนนสายเชียงราย-พะเยาบริเวณหลักกิโลเมตรที่ เข้าไปถึงบริเวณน้ำตก ระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร เส้นทางใช้ได้ตลอดปี สำหรับผู้ที่สนใจจะมาท่องเที่ยวควรมาในช่วงฤดูฝนหรือต้นฤดูหนาว ซึ่งน้ำตกจะมีน้ำมากและสวยงามที่สุด ส่วนหน้าแล้งน้ำจะน้อยในบางช่วงน้ำแห้งขอดเลยทีเดียว


น้ำตกขุนกรณ์ จ.เชียงราย

อยู่บนเทือกเขาดอยช้าง ต.แม่กรณ์ ห่างจากตัวเมืองตามทางหลวงหมายเลข1211 ประมาณ 18 กม. เลี้ยวขวาเข้าไป 12 กม. หรือไปตามทางหลวงหมายเลข1 สายเชียงราย-พะเยา ประมาณ 15 กม. จะมีป้ายแยกขวาไปอีก 17 กม. ถึงที่ทำการวนอุทยานฯ แล้วเดินเท้าไปยังตัวน้ำตกอีกประมาณ 30 นาที น้ำตกขุนกรณ์เป็นน้ำตกที่สูงและสวยที่สุดของจังหวัดเชียงราย ชาวบ้านเรียกว่า "น้ำตกตาดหมอก" มีความสูงถึง 70 ม.สองข้างทางที่เดินเข้าสู่ตัวน้ำตกเป็นป่าเขาธรรมชาติร่มรื่น


สภาพพื้นที่เป็นหุบเขาล้อมรอบด้วยภูเขาสูง เป็นภูเขาสูงชันตอนบนยอดเขาซึ่งเป็นจุดสูงสุด และเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของน้ำแม่กรณ์ซึ่งประกอบด้วยห้วยต่างๆ คือห้วยแม่กรณ์ ห้วยแม่มอญ ห้วยย่าดี ห้วยเลาอ้าย ไหลรวมกันเป็นน้ำแม่กรณ์แล้วไหลรวมกับแม่น้ำลาว

อุทยานแห่งชาติภูเรือ จ.เลย

อุทยานแห่งชาติภูเรือ ปัจจุบันมีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอภูเรือ อำเภอหนองบัว และอำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย อาณาเขตด้านทิศเหนืออยู่ติดกับประเทศลาว รูปพรรณสันฐานของภูเรือมีรูปร่างลักษณะเหมือนเรือใหญ่บนยอดดอยสูงเป็นภูผาสีสันสะดุดตาหินบางก้อนมีลักษณะเหมือนถูกปั้นแต่งไว้ ชาวบ้านเรียกว่า "กว้านสมอ" โดยรอบๆ จะเห็นยอดดอยเป็นขุนเขาน้อยใหญ่ใกล้เคียงเป็นฝ้าขาวด้วยละอองน้ำ หมอก ปกคลุมไว้ท่ามกลางป่าอันอุดมสมบูรณ์ มีเนื้อที่ประมาณ 120.84 ตารางกิโลเมตร หรือ 75,525 ไร่


พื้นที่ป่าภูเรือประกอบด้วยทิวเขาสูง สลับซับซ้อนเรียงรายเป็นรูปต่างๆ น่าพิศวงสลับกับที่ราบเป็นบางส่วน สาเหตุที่ขนานนามว่า "ภูเรือ" เพราะมีภูเขาลูกหนึ่งมีชะโงกผายื่นออกมาดูคล้ายสำเภาใหญ่ และที่ราบบนยอดเขามีลักษณะคล้ายท้องเรือ ตลอดจนมีธรรมชาติและทิวทัศน์ที่สวยงาม


ในปี พ.ศ. 2519 อธิบดีกรมป่าไม้ เดินทางมาราชการที่จังหวัดเลย นายสุจินต์ เพชรดี ปลัดจังหวัดเลย ได้ให้ความเห็นว่า ควรส่งเสริมป่าภูเรือให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัด จึงให้ทางอำเภอภูเรือไปสำรวจพื้นที่ พบว่าพื้นที่ป่าภูเรือมีทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงามสำคัญหลายแห่ง เช่น ป่าไม้ น้ำตก ทิวทัศน์ เหมาะที่จะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติได้

อุทยานแห่งชาติหาดวนกร จ.ประจวบคีรีขันธ์

อุทยานแห่งชาติหาดวนกร เป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเล ตั้งอยู่ริมถนนเพชรเกษม ห่างจากประจวบคีรีขันธ์ไปทางอำเภอทับสะแก ประมาณ 23 กิโลเมตร มีชายหาดอันลือชื่อของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่ทอดตัวเป็นแนวยาวลงไปในทะเล ทิวทัศน์ที่เงียบสงบ หาดทรายขาวสะอาด บนฝั่งมีทิวสนทะเลและสนประดิพัทธ์เป็นแนวขนานกับทะเล มีพื้นที่ทั้งหมด ประมาณ 23,750 ไร่ หรือ 38 ตารางกิโลเมตร ในเขตตำบลห้วยทราย ตำบลคลองวาฬ อำเภอเมือง และตำบลห้วยยาง อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พันธุ์ไม้ส่วนใหญ่เป็นไม้ที่ปลูกขึ้นใหม่ ได้แก่ สนทะเล สนประดิพัทธ์ สะเดา เป็นต้น


อุทยานแห่งชาติหาดวนกร แต่เดิมเป็นป่าสงวนแห่งชาติป่าวังด้วนและป่าห้วยยาง เป็นที่ตั้งของสวนป่าห้วยทราย ท้องที่อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ สวนป่าห้วยยาง สวนรุกขชาติห้วยยาง และสถานีวนกรรมห้วยยาง ท้องที่อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ต่อมาสถานีวนกรรมห้วยยางได้ถูกยกเลิกไป เมื่อทางกรมป่าไม้มีนโยบายที่จะจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ จึงได้โอนพื้นที่แห่งนี้มาให้กองอุทยานแห่งชาติดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2532 เป็นต้นมา และได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าวังด้วน ป่าห้วยยาง และเกาะใกล้เคียง ในท้องที่ตำบลห้วยทราย อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ และตำบลห้วยยาง อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รวมเนื้อที่ 38 ตารางกิโลเมตร

กว๊านพะเยา จ.พะเยา

กว๊านพะเยา เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติอยู่ใจกลางเมืองพะเยา อยู่ในเขตอำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา มีเนื้อที่ประมาณ 12,831 ไร่ เป็นทะเลสาบน้ำจืดใหญ่เป็นอันดับ 1 ในภาคเหนือ และ อันดับ 3 ของประเทศไทย (รองจาก หนองหาน และบึงบอระเพ็ด) มีปริมาณน้ำเฉลี่ยปีละ 29.40 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพันธ์ปลาน้ำจืดกว่า 48 ชนิด เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาชนิดต่างๆ เช่น ปลากราย ปลาสวาย ปลาเทโพ ปลาจีน ปลาไน รวมทั้งปลานิล อันลือชื่อของจังหวัดพะเยา


กว๊านพะเยา เกิดจาการยุบตัวของเปลือกโลกเมื่อประมาณ 70 ล้านปีมาแล้ว เป็นแอ่งน้ำซึ่งเป็นที่รวบรวมของลำห้วยต่างๆ 18 สาย ต่อมาในปี พ.ศ. 2478 กรมประมงได้ตั้งสถานีประมงน้ำจืดจังหวัดพะเยาขึ้นบริเวณต้นแม่น้ำอิงและสร้างฝายกั้นน้ำทำให้เกิดเป็นบึงขนาดใหญ่ มีความลึกเฉลี่ย 1.5 เมตร คำว่า "บึง" ภาษาพื้นเมือง เรียกว่า "กว๊าน"


ในอดีตพื้นที่กว๊านพะเยาเป็นพื้นที่รองรับน้ำจากเทือกเขาไหลลงมาเป็น ลำห้วย ลำธาร แม่น้ำ และกลายเป็นหนองน้ำเล็กใหญ่ในช่วงฤดูแล้งระหว่างเดือนมีนาคม-มิถุนายน ของทุกปี ปริมาณน้ำจะลดลงทำให้ชาวบ้านสามารถใช้พื้นที่เกษตรกรรม เลี้ยงสัตว์และเป็นเส้นทางสัญจรไปมาระหว่างตัวเมืองกับหมู่บ้านรอบๆ กว๊านพะเยา และเมื่อหลายร้อยปีมานั้นพื้นที่ในบริเวณของกว๊านพะเยาจะเป็นชุมชนหมู่บ้านมีวัดวาอารามอยู่หลายวัด ต่อมาเมื่อกรมประมงสร้างประตูกั้นน้ำในกว๊านพะเยาเพื่อกักเก็บน้ำ จึงทำให้บริเวณกว๊านพะเยาที่แต่เดิมเป็นชุมชนโบราณ และมีวัดหลายแห่งต้องจมอยู่ในกว๊านพะเยา

ทัศนียภาพโดยรอบกว๊านพะเยา มีความร่มรื่น สามารถมองเห็นแนวทิวเขาสลับซับซ้อนที่งดงาม ทำให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติที่สวยงามสร้างความประทับใจแก่ผู้พบเห็น จนอาจจะกล่าวได้ว่าหัวใจของเมืองพะเยาอยู่ที่กว๊านพะเยานี่เอง

โคลอสเซียม อิตาลี

โคลอสเซียม เป็นสนามกีฬากลางแจ้งขนาดใหญ่ตั้งอยู่ใจกลางกรุงโรม เริ่มสร้างขึ้นในสมัยจักรพรรดิเวสเปเซียนแห่งจักรวรรดิโรมัน และสร้างเสร็จในสมัยของจักรพรรดิไททัส ในคริสต์ศตวรรษที่ 1 หรือประมาณปี ค.ศ. 80 อัฒจันทร์เป็น รูปวงกลมก่อด้วยอิฐและหินทรายวัดโดยรอบได้ประมาณ 527 เมตร สูง 57 เมตร สามารถจุผู้ชมได้ประมาณ 50,000 คน มีการออกแบบอย่างชาญฉลาดโดยสร้างให้สนามกีฬามีลักษณะเป็นรูปวงรี เพื่อให้ผู้ชมรู้สึกเข้าใกล้นักกีฬา และมีการออกแบบทางระบายน้ำเพื่อไม่ให้น้ำท่วมขังในสนามขณะเกิดฝนตก ถือเป็นต้นแบบของสนามกีฬาต่างๆในปัจจุบัน ในบางครั้งจะมีการเรียกชื่อ โคลิเซียม (Coliseum)


สิ่งก่อสร้างรูปทรงโค้งเป็นวงกลมซึ่งตั้งอยู่ที่ศูนย์กลางของกรุงโรมแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อเชิดชูเหล่านักรบโรมันและเป็นอนุสรณ์ที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรโรมัน สนามกีฬาแห่งนี้สูง 48 เมตร ยาว 188 เมตร และกว้าง 156 เมตร แนวคิดในการออกแบบโคลอสเซียมนี้ยังคงมีความสำคัญมาจนถึงทุกวันนี้ ดังจะเห็นได้จากการออกแบบสนามกีฬาแทบทุกแห่งในโลกนับตั้งแต่นั้นมาต้องปฏิบัติตามแม่แบบดั้งเดิมของโคลอสเซียมอย่างปฏิเสธไม่ได้ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันนี้สิ่งที่ได้รับรู้จากภาพยนตร์และหนังสือบันทึกทางประวัติศาสตร์จะแสดงให้เห็นว่าสนามกีฬาแห่งนี้มีแต่การต่อสู้และการแข่งขันที่โหดร้ายต่างๆ นานา เพื่อความสุขของผู้ชมเท่านั้นก็ตาม


ใต้อัฒจรรย์โคลอสเซียม (Colosseum) และใต้ดินโคลอสเซียม (Colosseum) มีห้องสำหรับขังนักโทษที่รอการประหารชีวิต และสิงโต หลายร้อยห้อง ใช้เป็นสถานที่ให้นักโทษ ต่อสู้กับสิงโตที่อดอาหาร หากนักโทษผู้ใดเอาชนะ ฆ่าสิงโตได้ด้วยมือเปล่าได้ก็รอดชีวิตไป หรือ ไว้ใช้เป็นที่ประลองฝีมือในเชิงฟันดาบของบรรดาเหล่าทาสให้ต่อสู้กันเอง ยิ่งถ้าต่อสู้กัน จนถึงสามารถฆ่าคู่ต่อสู้ตาย ก็จะได้รับเกียรติอย่างสูงเพราะเป็นการต่อสู้ที่ชาวโรมันนิยมและยกย่องกัน มากทปีๆธิหนึ่งต้องสูญเสียชีวิตนักโทษและทาสไม่ต่ำกว่าร้อยคน


สนามกีฬาโคลอสเซียม (Colosseum) แห่งนี้ จึงเป็นสิ่งก่อสร้างที่แสดงถึงความรุ่งโรจน์ของอาณาจักรโรมันโบราณ แต่เมื่ออาณาจักรโรมันเสื่อมลง โคลอสเซียม (Colosseum) ก็ถูกข้าศึกทำลายหลายครั้งหลายหน ในปัจจุบันเหลือแต่ซากโครงสร้างอันใหญ่โตมโหฬารไว้ให้ชม

นครเปตรา จอร์แดน

นครเปตรา นครศิลาสีชมพู ที่ซุกซ่อนอยู่ในหุบเขาวาดีมูซา ริมทะเลทรายอาหรับของจอร์แดน ถูกทิ้งร้างกว่า 700 ปี ก่อนที่โยฮันน์ ลุดวิก เบิร์กฮ่ร์คต์ นักสำรวจชาวสวิสจะเดินทางมาพบเมื่อปี 1812 สิ่งก่อสร้างที่ยังคงอยู่ในปัจจุบันได้แก่ ถนนสายหลักที่ทอดขนานแม่น้ำวาดีมูซา อาคารบ้านเรือน วิหาร สุสาน และโรงละครหินครึ่งวงกลมซึ่งจุผู้ชมได้ 4,000 คน องค์การยูเนสโกประกาศให้นครเปตราเป็นมรดกโลกเมือ่ปี 1985


แม้จะมีร่องรอยของชนชาติอื่นๆอาศัยอยู่ในนครเปตราก่อนหน้านี้ แต่ชาวนาบาเทียซึ่งเข้ามาตั้งรกรากระหว่างทะเลสาบเดดซีกับทะเลอักบา เมื่อราวศตวรรษที่สองก่อนคริสต์ศักราช คือผู้สร้างเมืองนครเปตรา พวกเขาอาศัยอยู่ในถ้ำที่มีอยู่ทั่วเมือง ทำการค้า เก็บค่าผ่านทาง และเป็นยามรักษาความปลอดภัยให้กองคาราวาน จนกระทั่งมั่งคั่งพอที่จะสร้างอาณาจักรเป็นปึกแผ่น รับอารยธรรมกรีกเข้ามาผสมผสาน รู้จักสร้างบ้านเรือน วิหาร สุสาน โรงละครขนาดใหญ่ ถนนหนทาง ไปจนถึงการสร้างรูปปั้น ผลิตถ้วยโถโอชาม อันเป็นตัวอย่างของวัฒนธรรมในตะวันออกกลางที่โดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่ง และที่สำคัญที่สุด ชาวนาบาเทียเป็นเจ้าของเทคโนโลยีการชลประทานและการทดน้ำ ซึ่งเห็นได้จากหลักฐาน เช่น ท่อลำเลียง น้ำ ทำด้วยดินเหนียว เส้นผ่านศูนย์กลาง 7 นิ้ว


นครเปตราเจริญรุ่งเรืองเนื่องจากเป็นแหล่งน้ำสำคัญกลางทะเลทราย และตั้งอยู่บนเส้นทางการค้าสำคัญสองสาย ทั้งเส้นทางสายตะวันออก-ตะวันตก ที่เชื่อมระหว่างคาบสมุทรอาหรับกับอ่าวเปอร์เซียไปถึงทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และสายเหนือ-ใต้ ที่เชื่อมทะเลแดงกับกรุงดามัสกัสของซีเรีย บันทึกของสตราโบ นักภูมิศาสตร์ชาวกรีก บอกว่า นครเปตราเป็นตลาดขายสินค้าสำคัญที่สุดของโลกตะวันออก ทั้งยางไม้หอม กำยาน เครื่องเทศ ทองแดง เหล็ก เครื่องปั้นดินเผา และผ้าย้อม ล้วนลำเลียงผ่านนครเปตราทั้งสิ้น แต่เมื่อเกิดเส้นทางการค้าใหม่ที่ปลอดภัยและสะดวกกว่า นครเปตราก็เริ่มเสื่อมถอย ก่อนถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโรมันในปี ค.ศ. 106 อีกทั้งแผ่นดินไหวเมื่อราวปี ค.ศ. 363 ก็ได้ทำลายอาคารและระบบชลประทานลง หลังจากถูกมุสลิมยึดครอง นครเปตราก็ค่อยเลือนหายไปจากความทรงจำของผู้คน


ในปี 1812 โยฮันน์ ลุดวิก เบิร์กฮาดต์ นักสำรวจชาวสวิส ได้ผ่านไปพบหน้าผาอันใหญ่โตของนครเปตราและจดบันทึกไว้โดยไม่ได้ลงไปสำรวจ ถึงแม้จะเป็นบันทึกเล็กๆ แต่เบิร์ฮาดต์ก็ถือเป็นชาวยุโรปคนแรกที่ได้ไปเยือนนครเปตรา และนำนครที่ถูกลืมสู่สายตาชาวโลกอีกครั้งในหนังสือ Travels in Syria and the Holy Land ใช้ชื่อผู้แต่งว่า John Lewis Burckhardt

มาชูปิกชู เปรู

มาชูปิกชู หรือนิยมเรียกอีกชื่อว่า เมืองสาบสูญแห่งอินคา กล่าวกันว่าชื่อ มาชูปิกชู นี้ถูกตั้งให้กับโบราณสถานแห่งนี้โดยความเข้าใจผิด เมื่อไฮรัม บิงแฮม (ผู้ค้นพบ มาชู ปิกชู) ถามชนพื้นเมืองถึงชื่อของมัน ชนพื้นเมืองเข้าใจผิดว่าเขาถามถึงชื่อของภูเขาจึงตอบว่า "มาชูปิกชู" (แปลว่า"ยอดเขาผู้ชรา") ซึ่งได้กลายมาเป็นชื่อของโบราณสถานดังกล่าวมาจนทุกวันนี้


นครกลางฟ้าแห่งนี้ซ่อนตัวอยู่ในเทือกเขาแอนเดส ประเทศเปรู กินเนื้อที่ประมาณ13 ตารางกิโลเมตรของหุบเขาอุรุบัมบ้า ที่ความสูง 6,750 ฟีตจากระดับน้ำทะเล เมื่อมองจากตีนเขาจะไม่สามารถมองเห็นมาชูปิกชูได้ และนี่ก็คงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มาชูปิกชูไม่ถูกค้นพบเป็นเวลานานและยังคงสภาพอันสมบูรณ์เอาไว้ได้
โบราณสถานถูกสร้างเป็นลักษณะขั้นบันไดไล่ลงมาตามความชันของหุบเขา แต่ละชั้นสูง 3 เมตร มีจำนวนทั้งหมด 40 ชั้นซึ่งถูกเชื่อมถึงกันด้วยบันไดกว่า 3,000 ขั้น และมีสิ่งก่อสร้างซึ่งสร้างด้วยหินกว่า 200 หลัง


มีการตั้งสมมติฐานว่ามาชูปิกชูน่าจะเป็นที่อาศัยของนักบวชเพื่อใช้ในการสังเกตุการโคจรของดวงอาทิตย์มากกว่า เนื่องจากมีหน้าต่างซึ่งดวงอาทิตย์จะโคจรมาอยู่ตรงกลางพอดีในวันสิ้นสุดฤดูร้อนและวันสิ้นสุดฤดูหนาว ส่วนแท่นบูชายัญที่บิงแฮมกล่าวไว้ น่าจะมีไว้เพื่อเป็นหอสังเกตุวงโคจรของดวงอาทิตย์เช่นกัน

ซากศพที่พบในมาชูปิกชูมีจำนวนของชายหญิงพอๆกัน น่าจะมีการอาศัยเป็นครอบครัวซึ่งมีเด็กอยู่ด้วย ศพส่วนใหญ่พบร่องรอยของวัณโรคและโรคพยาธิ ฟันมีรอยผุเนื่องจากการทานข้าวโพดเป็นอาหารหลัก แต่ศพส่วนใหญ่มักเป็นผู้สูงอายุและไม่พบร่องรอยการตายที่น่าจะเกิดจากสงครามนัก สันนิษฐานได้ว่าศพของเชื้อพระวงศ์น่าจะถูกนำไปทำพิธีที่คุสโก้จึงไม่พบอยู่ที่นี่


มีบางศพที่เห็นได้ชัดว่ามาจากแถบอารยธรรมอื่นเช่นจากบริเวณทะเลสาปติติกากา คาดว่าน่าจะเป็นศพของช่างฝีมือที่ถูกเรียกมาเพื่อการก่อกำแพงหินซึ่งถูกสร้างขึ้นอย่างปราณีต กำแพงเหล่านี้สร้างขึ้นจากหินที่ถูกตัดไว้อย่างลวกๆแล้วใช้เครื่องมือที่ทำจากหินเช่นกันค่อยๆเซาะตบแต่งให้เรียบร้อยอีกที ในภายหลังมีการค้นพบเส้นทางการลำเลียงหินและแหล่งที่มาของหินเหล่านี้ซึ่งมีการพบเครื่องมือตัดหินที่ทำจากหินซึ่งมีความแข็งเป็นพิเศษอยู่ด้วย

เมื่อเร็วๆนี้ มีการพบรอยไหม้ในชั้นใต้ดินของสิ่งก่อสร้าง จึงมีการคาดเดาว่าน่าจะเกิดจากชาวเมืองซึ่งเกรงว่าสเปนจะบุกมาจึงได้เผามาชูปิกชูเสียก็เป็นได้

กำแพงเมืองจีน จีน

กำแพงเมืองจีน เป็นสิ่งก่อสร้างในยุคโบราณของจีน ที่เป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก ซึ่งมีคำกล่าวกันว่า เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นบนพื้นโลกที่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า จากดวงจันทร์ ได้

กำแพงเมืองจีน ถูกเริ่มสร้างเมื่อ 700 ปี ก่อนคริสตกาล ในเวลานั้นแผ่นดินจีนถูกแบ่งออกเป็นประเทศหลาย ๆ ประเทศ ซึ่งมักจะปรากฏสงครามรบพุ่งระหว่างกัน ดังนั้นแต่ละประเทศจึงสร้างกำแพงเมืองขนาดใหญ่และค่อนข้างสูงขึ้นเป็นเขตประเทศของตนเอง กำแพงเหล่านั้นไม่เหมือนกับกำแพงเมืองแบบธรรมดา แต่เป็นกำแพงที่ค่อนข้างยาวมาก เป็นกำแพงเมืองจีนก่อนราชวงศ์ฉิน จนเมื่อ 200 ปีก่อนคริสตกาล จักรพรรดิจิ๋นซี ทรงรวมประเทศจีนเป็นหนึ่งเดียว และสถาปนาราชวงศ์ฉินขึ้น ทรงต้องการความเป็นหนึ่งเดียวของประเทศที่มีความปลอดภัย จึงส่งกองทหาร 3 แสนคน กับประชาชน 5 แสนคน ร่วมกันสร้างกำแพงใหญ่ เริ่มจากทิศตะวันตกที่เมือง หลินเถา ถึงตะวันออกที่เมือง เลี๋ยวตง มีความยาว 10,000 ลี้ ทำให้ผู้คนเรียกกำแพงนี้ว่า กำแพงหมื่นลี้ กำแพงนี้ถูกสร้างขึ้นบนฐานเดิมของ กำแพงเมืองจีนรุ่นเก่า จึงใช้เวลาสร้างเพียง 9 ปี


หลังจากราชวงศ์ฉิน มาสู่ ราชวงศ์ฮั่น ราชวงศ์สุย ราชวงศ์หมิง กับราชวงศ์ที่ปกครองแผ่นดินทางเหนืออยู่ยาวนาน เช่น ราชวงศ์เป่ยเว่ย ราชวงศ์เป่ยโจว ราชวงศ์เลี๋ยว ราชวงศ์จิน เป็นต้น ล้วนเคยสร้างกำแพงแบบเดียวกันนี้ สำหรับกำแพงที่พวกเราเห็นอยู่ในปัจจุบัน เป็นกำแพงที่สร้างขึ้นในราชวงศ์หมิง เริ่มทางตะวันตกที่ เมือง เจีย ยวี่ กวน ของมณฑล กันซู ถึงตะวันออกที่ เมือง ซาน ไห่ กวน ของมณฑล เหอเป่ย ประมาณว่ามีความยาว 12,000 ลี้ เส้นทางผ่านของกำแพงสายนี้ กับสายของราชวงศ์ฉิน ไม่เหมือนกัน

ไม่ว่าสมัยราชวงศ์ฉิน หรือสมัยราชวงศ์หมิง การสร้างกำแพงเต็มไปด้วยความยากลำบาก กำแพงหมื่นลี้ส่วนใหญ่สร้างบนภูเขาสูง วัสดุที่ใช้ก่อสร้างมีหลายขนาด ขนาดเล็กอาจมีน้ำหนักหลายสิบชั่ง ขนาดใหญ่อาจมีน้ำหนักหลายพันชั่ง ( 1 ชั่ง = ครึ่งกิโลกรัม โดยประมาณ ) สมัยนั้น ไม่มีรถยนต์ ไม่มีรถไฟ ไม่มีปั้นจั่น ไม่มีเครื่องมือสำหรับยกของหนัก การยกสิ่งของที่หนัก พันชั่ง ร้อยชั่ง จากเชิงเขาสู่ยอดเขา ย่อมเป็นความลำบากสุดที่จะพรรณนา กำแพงเมืองจีนในส่วนของเมือง ปาต๋าหลิ่ง ( ใกล้กรุงปักกิ่ง ) ใช้คนหลายพันคนซ่อมสร้างเมื่อหลายสิบที่ผ่านมา ในเวลา 1 ปี ได้ระยะเพียง 200 เมตร มองย้อนกลับไปในสมัยราชวงศ์หมิง ที่ปกครองประเทศกว่า 200 ปี ประวัติศาสตร์การก่อสร้างกำแพงในสมัยนั้น กว่าจะได้ระยะ 200 เมตร คงจะต้องใช้เวลาหลาย ๆ ปีทีเดียว


ประวัติศาสตร์ของกำแพงเมืองจีนซึ่งทำให้เห็นการรวมประเทศที่มีความปลอดภัยนั้น ยังนำมาซึ่งข้อดีให้เห็นอีกหลายประการ แต่ว่าการสร้างกำแพงนี้ก็ได้นำ ความทุกข์ระทม มหาศาลมาสู่ประชาชนด้วย มีเหตุการณ์ในสมัยราชวงศ์ฉินเล่าต่อ ๆ กันมาว่า ณ เวลานั้นประชากรจีนมีอยู่ประมาณ 20 ล้านคน เป็นประชากรที่อยู่ในวัยทำงานไม่ถึง 10 ล้านคน จำนวนทหารและชาวบ้าน ก่อนและหลัง การสร้างกำแพง มีอยู่ประมาณ 4 ล้านคน เกือบจะเท่ากับแรงงานทั้งหมดที่มีอยู่ทั่วประเทศ ดังนั้น ตั้งแต่ราชวงศ์ฮั่น เป็นต้นมา จึงมีประชาชนจำนวนไม่น้อยต่อต้านการสร้างกำแพง กำเนิดเป็น บทกวี บทเพลง และนิทาน เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องระหว่างการสร้างกำแพงกับทุกข์ระทมของประชาชน แพร่หลายท่ามกลางหมู่ประชาชนอย่างกว้างขวาง เรื่องที่มีชื่อเสียงที่สุด คือ กำแพงร้องไห้ของ เมิ่ง เจียน นวี่


เล่ากันว่า คู่ภริยา-สามี สาวหนุ่มคู่หนึ่ง ในเขตปกครอง ส่านซี คือ เมิ่ง เจียน นวี่ กับสามี ฟ่าน ฉี่ เลี๋ยง ที่เพิ่งแต่งงานกัน ต้องพรากจากกันเนื่องจาก ฟ่าน ฉี่ เลี๋ยง ถูกจักรพรรดิจิ๋นซี นำตัวไปสร้างกำแพง เพียงแค่จากกันก็นับได้หลายปี เมิ่ง เจียน นวี่ คิดถึงและเป็นห่วงสามีทั้งวัน ทั้งคืน เธอเห็นว่าสามีจากไปหลายปีแล้วไม่กลับมา จึงเก็บเสื้อหอบผ้าไปที่กำแพงเพื่อตามหาสามี เธอแวะเวียนไปหลายต่อหลายแห่งก็ไม่พบแม้แต่เงาของสามี วันหนึ่งที่บริเวณเขตก่อสร้าง ซานไห่กวน ได้พบเพื่อนคนหนึ่ง ของ ฟ่าน ฉี่ เลี๋ยง จึงทราบว่า ฟ่าน ฉี่ เลี๋ยง ตายแล้ว เมิ่ง เจียน นวี่ ถึงกับใจแตกสลาย ร่ำไห้คร่ำครวญไม่หยุดหย่อน ร่ำไห้ไปจนถึงตัวกำแพง จักรพรรดิทราบข่าวจึงให้คนไปจับตัว เมิ่ง เจียน นวี่ มาลงโทษ เธอทราบข่าวเช่นนั้น ตั้งใจไม่ยอมตายในอุ้งพระหัตถ์จอมจักรพรรดิ จึงกระโดดลงทะเลฆ่าตัวตายจากไป ภายหลังผู้คนต้องการรำลึกถึงชะตากรรมการอุทิศชีวิตเพื่อความรัก จึงได้สร้างศาล เมิ่ง เจียน นวี่ ขึ้นที่ ซานไห่กวน นั่นเอง

แท้จริงแล้วการตายของ ฟ่าน ฉี่ เลี๋ยง กับเมิ่ง เจียน นวี่ ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับ จอมจักรพรรดิจิ๋นซี เรื่องของ เมิ่ง เจียน นวี่ มีมาก่อนรัชสมัยของจักรพรรดิจิ๋นซี และอีกอย่างหนึ่ง ในสมัยราชวงศ์ฉิน ไม่มีการสร้างกำแพง ที่ ซานไห่กวน การผูกเรื่อง เมิ่ง เจียน นวี่ กับจักรพรรดิจิ๋นซีเข้าด้วยกันนั้น เป็นผลงานของกวีผู้หนึ่ง ภายหลังผู้คนนำเรื่องนี้มาเป็นประเด็นของการต่อต้านการสร้างกำแพงเมืองจีนเท่านั้น ศาล เมิ่ง เจียน นวี่ ในปัจจุบันนั้น ถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1594


วันนี้กำแพงเมืองจีน ไม่เพียงความอลังการของมันที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก แต่ยังเป็นศิลปะวัฒนธรรมที่เก่าแก่และสำคัญยิ่งของประเทศจีน ที่นำผู้ชำนาญการด้านต่าง ๆ เข้ามาศึกษาและวิจัย รัฐบาลจีน ได้มีการดำเนินงานอนุรักษ์และฟื้นฟูกำแพงยาวนี้ โดยได้รับการสนับสนุนจากประชาชนทั้งจากในประเทศและจากต่างประเทศ มีผู้คนส่งเงินให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนการซ่อมแซมกำแพงหมื่นลี้เหล่านี้ ไม่กี่ปีที่ผ่านมา กำแพงหลายส่วนถูกบูรณะแล้ว จึงนับเป็นเรื่องดีอย่างยิ่งสำหรับการท่องเที่ยวและการศึกษาวิจัยถึงความริเริ่มของการสร้างกำแพงมหัศจรรย์ของโลก แห่งนี้

รูปปั้นพระเยซูคริสต์ บราซิล

รูปปั้นพระเยซูคริสต์ บราซิล

รูปปั้นพระเยซูหนักกว่า 600 ตัน ตั้งอยู่บนยอดเขาคาร์โควาโดเหนือเมืองริโอ เด จาเนโร โดยได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นด้วยฝีมือของประติมากรชาวฝรั่งเศส พอล ลันดอฟสกี้ กับวิศวกรชาวบราซิล ไฮตอร์ ดา ซิลวา คอสต้า ใช้เวลาในการสร้างถึง 5 ปีและเปิดตัวสู่สาธารณชนเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ปี 1931 นอกจากนี้ บนยอดเขายังมีการสร้างห้องสวดมนต์ไว้เป็นที่ระลึกฉลองครบรอบ 75 ปีของรูปปั้นอีกด้วย


รูปปั้นพระเยซูคริสต์ ตั้งอยู่ที่ยอดเขากอร์โกวาดู ประเทศบราซิล มีความสูงราว 38 เมตร ได้รับการออกแบบโดยไฮตอร์ ดา ซิลวา กอสตา ชาวบราซิล และสร้างโดยพอล ลันดอฟสกี ประติมากรชาวฝรั่งเศสเชื้อสายโปแลนด์ ใช้เวลาในการสร้าง 5 ปี โดยทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 12 ตุลาคม ปี พ.ศ. 2474


รูปปั้นของพระเยซูที่โปรดให้พ้นบาป ยืนสูง 30 เมตร (98 ฟุต) และกำลังมองข้ามเมือง Rio de Janeiro หนึ่งในรูปปั้นสูงที่สุดในโลก รูปปั้นพระเยซูเยืนยื่นแขนออกมาต้อนรับ และเป็นหนึ่งของสัญลักษณ์ที่มีชื่อเสียงมากของเมืองนี้ พัฒนาโดยวิศวกร Heitor da Silva Costa และองค์กร สร้างขึ้นในปี 1921 โครงการทำเกือบ 5 ปีจึงเสร็จสิ้น

รูปปั้นอยู่บนภูเขา Corcovado (ภูเขา Hunchback) และตั้งในอุทยานแห่งชาติ Tijuca เป็นสถานที่ปิคนิกที่รื่นเริง นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปฐานของรูปปั้น ซึ่งสูง 709 m (2326 ฟุต) สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของภูเขา Sugar Loaf กลางเมือง Rio de Janeiro และชายหาดของ Rio de Janeiro นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นรถไฟไปบนยอดของภูเขาเพื่อมองรูปปั้นอย่างใกล้ชิด และวิวที่สวยงามมากมาย


รูปปั้นพระเยซูคริสต์นี้ถือเป็นอนุสาวรีย์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของนครรีโอเดจาเนโร และเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจของชาวบราซิล มีนักท่องเที่ยวเดินทางมายังสถานที่แห่งนี้ราว 1,800,000 รายต่อปี

ชีเชนอิตซา เม็กซิโก

ซากปรักหักพังของนครชาวมายาอันลี้ลับ ชีเชนอิตซา (ChichénItzá) อันมีความหมายว่า ปากบ่อน้ำของชาวอิตซา ดึงดูดความสนใจของนักโบราณคดี นักสำรวจ และนักประวัติศาสตร์ มานับตั้งแต่มีการค้นพบ ดั้บการพรรณนาเป็นครั้งแรกโดยท่านบิชอปเดียโก เด ลันดา (Diego de Landa) ผู้เขียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของยูคาทาน (Ydcatán) เมื่อปลายศตวรรษที่ 16 นครชีเชนอิตซารุ่งเรืองสูงสุดประมาณปี ค.ศ. 600-1200 เป็นไปได้ว่าที่นี่คือศูนย์กลางหลักด้านศาสนาและการเมืองของทั่วบริเวณคาบสมุทรยูคาทาน โบราณสถานแห่งนี้ประกอบด้วยอาคารหินที่ตกแต่งและออกแบบอย่างวิจิตรบรรจงไว้มากมายหลายแห่ง อาทิ วิหารพีระมิด พระราชวัง หอดูดาว โรงอาบน้ำ และสนามบอล ทั้งหมดนี้สร้างขึ้นโดยไม่มีการใช้เครื่องมือโลหะเลย แต่ด้วยเหตุผลกลใดไม่ทราบแน่ชัด ชาวมายาเริ่มผละจากชีเชนอิตซาไปตั้งแต่ราวต้นศตวรรษที่ 13 ก่อนซากนครจะถูกกลืนหายไปในป่าชัฏ


การมีอยู่ของชีเชนอิตซาเป็นที่รู้กันมานานหลายศตวรรษแล้วหลังถูกทิ้งร้าง แต่ก็หาได้มีการสำรวจซากนครแห่งนี้จวบจนปลายทศวรรษ 1830 นับตั้งแต่ปี 1839-1842 นักสำรวจและนักเขียนชาวอเมริกัน จอห์น ลอยด์ สตีเฟนส์ (John Lloyd Stephens) ร่วมด้วยสถาปนิกและนักเขียนแบบ เฟรเดอริค เคเธอร์วูด (Frederick Catherwood) ได้เดินทางท่องทั่วอเมริกาใต้ โดยไปเยือนโบราณสถานแห่งนี้นับครั้งไม่ถ้วน ผลจากการศึกษาค้นคว้าของพวกเขาปรากฎเป็นหนังสือสำคัญสองเล่ม คือ Incidents of Travel in Central America, Chiapas and Yucatán (1841) กับ Incidents of Travel in Yacatán (1843) ทั้งสองเล่มเขียนโดยสตีเฟนส์ และวาดภาพประกอบโดยเคเธอร์วูด

ระหว่างปี 1875 และ 1883 นักสะสมโบราณวัตถุและนักถ่ายภาพชาวฝรั่งเศส ออกุสตุส เลอ ปลงเฌออง กับ อลิซ ภรรยา ได้ลงมือขุดค้นชีเชนอิตซาเป็นครั้งแรก และบันทึกภาพสามมิติของนครโบราณไว้อย่างน่าอัศจรรย์ อย่างไรก็ดี ข้อสรุปของปลงเฌอองเกี่ยวกับชาวมายานั้นออกจะคลุมเครือภายใต้ม่านหมอกความเชื่อของเขาที่ว่า อเมริกาใต้คือจุดกำเนิดอารยธรรมของโลก


หลังจากนั้นก็ยังมีคณะสำรวจอื่น ๆ มาเยือนที่นี่ไม่ขาด อาทิเช่น คณะของทีโอแบร์โต มาแลร์ (Teoberto Maler) ผู้มีเชื้อสายอิตาเลียน ได้มาใช้ชีวิตอยู่ที่ชีเชนอิตซาร่วมสามเดือนในทศวรรษ 1880 มาแลร์จดบันทึกทุกซอกมุมของซากนครโบราณอย่างละเอียดยิ่งกว่าผู้ใดก่อนหน้านี้ และในปี 1889 อัลเฟรด พี. โมดสเลย์ (Alfred P.Maudslay) ทูตอังกฤษ ประเทศเจ้าอาณานิคม โมดสเลย์ซึ่งเป็นนักสำรวจและนักโบราณคดีด้วย ได้มาสำรวจและถ่ายภาพซากนคร ต่อมาผู้ช่วยของเขา เอ็ดเวิร์ด เอช. ทอมป์สัน (Edward H. Thompson) กงสุลสหรัฐฯ ในยูคาทาน ได้ย้ายมาอยู่ในชีเชนอิตซาพร้อมด้วยภรรยาชาวมายา เขาใช้เวลาร่วม 30 ปี ดำเนินการศึกษาสำรวจท่ามกลางซากปรักหักพัง รวมทั้งขุดหาศิลปวัตถุที่ทำด้วยทองแดง ทองคำ หยก และกระดูกมนุษย์ จากบ่อน้ำหินปูนศักดิ์สิทธิ์ (Sacred Cenote)