,
พม่า เรียกว่าเป็นประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง ที่แต่ละปีจะมีชาวไทยเดินทางไปไหว้พระตามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก อีกทั้งชนชาติพม่าได้ชื่อว่าเป็นชนชาติที่ยังยึดมั่นคำสอนในพระพุทธศาสนาอย่างเหนียวแน่ที่สุดชาติหนึ่งในโลก เพราะฉะนั้น วันนี้เราจึงนำเอา 5 มหาบูชาสถาน สิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของประเทศพม่ามาแนะนำกัน
พระมหาเจดีย์ชเวดากอง เป็นศาสนสถานและสิ่งศักดิ์สิทธิคู่บ้านคู่เมืองของชาวพม่า ตั้งอยู่บริเวณเนินเขาเชียงกุตระ เมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า เชื่อกันว่าเป็นมหาเจดีย์ที่บรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้าจำนวน 8 เส้น โดยความหมายคำว่า ชเว แปลว่า ทอง, ดากอง เป็นชื่อเดิมของเมืองย่างกุ้ง เรียก ตาโกง แปลรวมว่า ทองแห่งเมืองดากอง
พระมหาเจดีย์ชเวดากอง มีประวัติศาสตร์เก่าแก่ยาวนานกว่า 2,500 ปี ตั้งแต่ครั้งของนครย่างกุ้งยังเป็นของชาวมอญ ตามตำนานเล่าว่า มีพ่อค้าชาวมอญ 2 คน ชื่อว่า ตผุสสะ และ ภัลลิกะ ได้เดินทางไปค้าขายยังประเทศอินเดีย ทั้งสองได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ซึ่งกำลังประทับอยู่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ และได้ถวายภัตตาหารแด่พระองค์ หลังจากเสวยเสร็จแล้ว พระพุทธเจ้าได้ประทานพระเกศาให้ 8 เส้น เมื่อ ตผุสสะ และ ภัลลิกะ เดินทางกลับ พระราชาแห่งอเชตตะได้ขอแบ่งพระเกศธาตุไป 2 เส้น พญานาคขอไปอีก 2 เส้น เมื่อเดินทางกลับถึงเมืองอสิตันชนะ พระเจ้าโอกกะละปะก็ได้ทรงประกอบพิธีต้อนรับพระเกศธาตุอย่างยิ่งใหญ่
และได้ทรงคัดเลือกสถานที่บนเขาสิงฆุตตระ นอกประตูเมืองอสิตันชนะ ให้เป็นที่สร้างพระเจดีย์ เพื่อบรรจุพระเกศธาตุ แต่ขณะที่กำลังทำการขุดดินก่อสร้างนั้น ก็ได้ค้นพบพระบริโภคเจดีย์ของอดีตพระพุทธเจ้าองค์อื่น ๆ อีก 3 พระองค์ด้วย คือ ไม้ธารพระกร ภาชนะสำหรับใส่น้ำ และสบง จึงได้บรรจุของทั้งหมดนี้ในพระเจดีย์พร้อมกับพระเกศธาตุด้วย แต่ก่อนที่จะบรรจุก็ค้นพบด้วยว่า พระเกศธาตุกลับมี 8 เส้นดังเดิม พระเกศธาตุได้บรรจุไว้ภายในเจดีย์ทอง เงิน ดีบุก ทองแดง ตะกั่ว หินอ่อน และเหล็กตามลำดับ เสร็จแล้วจึงสร้างเจดีย์อิฐสูง 9 เมตรทับไว้ในชั้นแรก
ต่อมาพระยาอู่แห่งเมืองหงสาได้ต่อเติมเจดีย์ให้สูงขึ้น 22 เมตร พระเจดีย์ได้ถูกซ่อมแซมเรื่อยมา จนมามีความสูง 120 เมตร ในสมัยพระเจ้ามังระใน พ.ศ 2473 ได้เกิดแผ่นดินไหวอย่างหนัก ทำให้ยอดของพระเจดีย์หักถล่มลงมา รัฐบาลพม่าและประชาชนช่วยกันบริจาคยกฉัตรขึ้นใหม่ดังที่เห็นปัจจุบัน ทั้งนี้ ภายในเจดีย์ชเวดากอง จะมีลานอธิษฐานสมปราถนา (ภายในกระเบื้องรูปดาว) ที่ชาวพม่าเชื่อกันว่าถ้าได้มานั่งอธิษฐานขอสิ่งใดก็จะสมปราถนา มีเจดีย์รายล้อมเจดีย์ชเวดากอง ซึ่งผู้ที่เข้ามานมัสการหรือเยี่ยมชมจะต้องถอดรองเท้าทุกครั้ง และเมื่อมาถึงทางเข้า ให้เดินตามเข็มนาฬิกา ขึ้นอยู่กับดวงวันเกิดของผู้เข้าที่จะดูตาม 12 นักษัตร รอบ ๆ พระเจดีย์ก็มีศาลเจ้าเล็ก ๆ อยู่รายรอบ
พระธาตุอินทร์แขวน หรือ ไจ้ก์ทิโย ในภาษามอญ หมายความว่า หินรูปหัวฤๅษี โดย พระธาตุอินทร์แขวน ตั้งอยู่ที่เมืองไจ้ก์โถ่ อำเภอสะเทิม เขตรัฐมอญของประเทศพม่า บนยอดเขา Paung Laung ที่มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 3,615 ฟุต ลักษณะเด่นของพระธาตุอินทร์แขวน คือ มีลักษณะเป็นก้อนหินสีทองขนาดใหญ่สูง 5.5 เมตร ตั้งอยู่บนหน้าผาสูงชันอย่างหมิ่นเหม่
โดยไม่ตกลงมาอย่างเหลือเชื่อ โดยมีตำนานเล่าขานกันในสมัยพุทธกาลว่า ฤๅษีติสสะเป็นผู้หนึ่งที่ได้รับพระเกศาจากพระพุทธเจ้าที่ได้ทรงมอบให้ไว้เป็นตัวแทนของพระพุทธองค์ให้ประชาชนสักการะ เมื่อครั้นได้มาแสดงธรรมเทศนา ณ ดินแดนสุวรรณภูมิ ผู้ที่ได้รับมอบพระเกศาต่างก็นำไปบรรจุในสถูปเจดีย์ ส่วนฤๅษีติสสะกลับนำไปซ่อนไว้ในมวยผม เมื่อเวลาล่วงเลยถึงคราวที่ฤๅษีติสสะจะต้องละสังขารเต็มที เขาตั้งใจไว้ว่าจะนำพระเกศาไปบรรจุไว้ในก้อนหินที่มีรูปร่างคล้ายกับศีรษะของเขา ท้าวสักกเทวราช (พระอินทร์) จึงช่วยเสาะหาก้อนหินดังกล่าวจากใต้ท้องมหาสมุทร และนำมาวางหรือแขวนไว้บนภูเขาหิน
แต่บางตำนานก็เล่าว่า มีฤๅษีองค์หนึ่งซ่อนพระเกศาที่ได้รับมาจากพระพุทธเจ้า เมื่อครั้นมาโปรดสัตว์ในถ้ำไว้ในมวยผมมาเป็นเวลานาน และใกล้ถึงวาระที่จะต้องละสังขารจึงตัดสินใจมอบพระเกศาให้กับ พระเจ้าติสสะ กษัตริย์ผู้ครองนครแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นบุตรของลูกศิษย์ที่นำมาฝากให้ฤๅษีช่วยเลี้ยงดูตั้งแต่เล็ก แต่ก่อนอื่นพระเจ้าติสสะต้องหาก้อนหินที่มีลักษณะคล้ายศีรษะของฤๅษี โดยมีพระอินทร์เป็นผู้ช่วยค้นหาจากใต้สมุทรนำมาวางไว้ที่หน้าผา
นอกจากนี้ อีกทั้งยังมีความเชื่อกันว่าพระอินทร์เสด็จลงมาจากสรวงสวรรค์ เพื่อนำเอาพระธาตุมาแขวนไว้ให้ผู้มีบุญมากราบไหว้ ใครได้มาสักการะก็เท่ากับได้ไหว้พระธาตุเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ และพระธาตุอินทร์แขวนยังเป็นพระธาตุประจำปีจอ (สุนัข) ที่คนเกิดปีนี้ต้องไปนมัสการสักครั้งหนึ่งในชีวิต อีกทั้งชาวพม่ายังมีความเชื่อว่าการได้มาสักการะพระธาตุอินทร์แขวน 3 ครั้ง จะโชคดีประสบความสำเร็จในชีวิตทุก ๆ ด้าน
พระมหาธาตุเจดีย์ชเวสิกอง เป็นเจดีย์ใหญ่ สวยงาม ศักดิ์สิทธิ์และเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศพม่า เป็นที่เคารพนับถือของทั้งชาวพม่าและชาวไทย ตั้งอยู่ที่เมืองพุกาม โดยชื่อ "ชเวสิกอง" มีหมายความว่า "เจดีย์ทองแห่งชัยชนะ" (ชเว = ทอง) สร้างโดย พระเจ้าอโนรธามังช่อ แต่แล้วเสร็จในรัชกาลพระเจ้าจานสิตาแห่งอาณาจักรพุกาม ราว 960 ปีก่อน ภายในเจดีย์เชื่อว่าบรรจุพระเขี้ยวแก้วและพระสารีริกธาตุ โดยอัญเชิญมาจากลังกา บนหลังช้างเผือก พระเจ้าอโนรธามังช่อได้ตั้งจิตอธิษฐานว่า ถ้าช้างเผือกคุกเข่าลงที่ใดจะสร้างเจดีย์ไว้ที่นั่น
เจดีย์ชเวสิกองเป็นเจดีย์ทรงระฆังคว่ำ พื้นผิวภายนอกถูกปิดด้วยทองคำเปลว ถูกบูรณะในสมัยต่อมาอีกหลายครั้ง แต่ปัจจุบันมีความสูงราว 53 เมตร หรือ 160 ฟุต มีลวดลายปูนปั้นอยู่ 3 แถว และมีเจดีย์เล็ก ๆ เป็นบริวารอยู่รายรอบ
เจดีย์ชเวมอดอร์ หรือ พระธาตุมุเตา ตั้งอยู่กลางเมืองหงสาวดี ซึ่งเป็นมหาเจดีย์ที่บรรจุพระเกศาธาตุรวม 2 เส้น มีอายุเก่าแก่กว่า 2,000 ปี เป็นที่เคารพสักการะของทั้งกษัตริย์ มอญ พม่า และไทย เช่น พระเจ้าราชาธิราชของมอญ พระเจ้าบุเรงนองของพม่า และสมเด็จพระนเรศวรมหาราชของไทย อีกทั้งยังเป็นพระธาตุเจดีย์ที่สูงที่สุดของพม่า ด้วยความสูงถึง 374 ฟุต
พระธาตุมุเตา เคยพังทลายจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่มาแล้วถึง 4 ครั้ง โดยแผ่นดินไหวครั้งสุดท้าย เมื่อปี พ.ศ. 2473 ทำให้ปลียอดของพระธาตุมุเตาหักพังลงมา แต่สิ่งที่น่าอัศจรรย์ คือ องค์พระธาตุไม่หักลงถึงพื้น จึงเป็นความเชื่อกันว่าหากใครได้ไปกราบไหว้องค์พระธาตุ แล้วเอาไม้ไปค้ำไว้กับยอดพระธาตุที่หักลงมา จากนั้นเอาหน้าผากไปแตะกับยอดองค์พระธาตุที่หักลงมา จะทำให้ชีวิตของคนคนนั้นไม่ว่าจะถึงช่วงชีวิตที่ตกต่ำยังไงก็จะไม่ตกต่ำถึงที่สุด ซึ่งเปรียบเหมือนยอดพระธาตุที่ต่อให้ตกอย่างไรก็ตกไม่ถึงพื้น และทำให้ชีวิตของคนนั้นมีความมั่นคงถาวร
ทั้งนี้ ยอดขององค์พระธาตุมุเตาได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์จนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2497 และยอดของพระธาตุที่หักลงมาตั้งอยู่บริเวณลานทางทิศเหนือของพระธาตุองค์ใหม่ ซึ่งสถานตรงนี้เองได้กลายเป็นสถานที่อธิษฐานขอพร
พระมหามัยมุนี พระพุทธรูปสำริดทรงเครื่องแบบกษัตริย์ ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 3 เมตร พระพุทธรูปคู่บ้านคู่บ้านของพม่า ประดิษฐานอยู่ที่เมืองมัณฑะเลย์ อดีตราชธานีของพม่าในยุคราชวงศ์คองบอง โดยคำว่า มหามัยมุนี แปลว่า ผู้รู้อันประเสริฐ ซึ่งชาวพม่าจะเรียกว่า มหาเมียะมุนี เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องกษัตริย์ เดิมทีเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของยะไข่
มีตำนานเล่าว่า พระมหามัยมุนี สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพุทธกาล โดยกษัตริย์แห่งเมืองยะไข่ องค์พระทำจากทองสัมฤทธิ์ สูง 12 ฟุต 7 นิ้ว หนัก 6.5 ตัน ก่อนสร้างกษัตริย์ผู้สร้างทรงพระสุบินว่า พระพุทธเจ้าเสด็จมาประทานพรให้พระพุทธปฏิมาองค์นี้เป็นตัวแทนของพระองค์ เพื่อเป็นเครื่องสืบพระศาสนาไปในภายหน้า โดยในอดีตแม้เมืองยะไข่จะถูกโจมตีโดยกษัตริย์เมืองอื่นที่ทรงแสนยานุภาพอย่างไร ก็ไม่อาจที่จะเคลื่อนย้ายองค์พระมหามัยมุนีออกจากเมืองได้เลย เนื่องจากมีเหตุให้ขัดข้องทุกครั้งไป จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2327 รัชสมัยพระเจ้าปดุง แห่งราชวงศ์คองบอง ที่เมืองตียะไข่ได้ รวมถึงสามารถอัญเชิญพระมหามัยมุนีออกจากยะไข่ได้ โดยล่องมาตามแม่น้ำอิระวดีไปจนถึงยังเมืองมัณฑเลย์สำเร็จ พระมหามัยมุนีจึงได้ย้ายมาอยู่ที่เมืองมัณฑเลย์เป็นการถาวรนับแต่นั้นเป็นต้นมา
และด้วยความเชื่อว่า พระพุทธมหามัยมุนี นี้เป็นพระพุทธรูปที่มีชีวิต เพราะด้วยเหตุที่ได้รับประทานพร (บางตำนานก็เล่าว่าได้รับประทานลมหายใจจากพระพุทธเจ้า) จึงมีประเพณีล้างพระพักตร์ถวาย โดยทุกเช้า เวลาประมาณ 04.00 น. พระมหาเถระและสาธุชนทั่วไปที่ศรัทธา จะมาทำพิธีล้างพระพักตร์ด้วยน้ำอบน้ำหอมผสมทานาคาอย่างดี พร้อมกับใช้แปรงทองแปรงที่พระโอษฐ์เสมือนหนึ่งแปรงพระทนต์ถวายพระพุทธเจ้า ก่อนใช้ผ้าจากศรัทธาสาธุชนถวายมาเช็ดจนแห้งสนิท พร้อมใช้พัดทองโบกถวายเป็นอันดี เสมือนหนึ่งได้อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ยังทรงพระชนมชีพอยู่จริง ๆ
อนึ่ง องค์พระมหามัยมุนีมีการปิดทองซ้ำแล้วซ้ำอีกจนเป็นรอยย่นตะปุ่มตะป่ำไปทั้งพระองค์ ซึ่งหากเอานิ้วกดลงไป ก็จะรู้สึกได้ถึงความอ่อนนิ่มของทองคำเปลวที่ปิดทับซ้อนกันนับเป็นพัน ๆ หมื่น ๆ ชั้น ตลอดระยะเวลาเนิ่นนานกว่าศตวรรษ ทำให้พระมหามัยมุนีมีอีกพระนามหนึ่งว่า "พระเนื้อนิ่ม" แต่น่าแปลกที่ว่า แม้จะมีการปิดทองซ้ำแล้วซ้ำอีกจนองค์พระใหญ่ขึ้นเพียงใดก็ตาม แต่พระพักตร์ขององค์พระมหามัยมุนีก็ยังแลดูใหญ่ตามองค์พระอย่างน่าอัศจรรย์ ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีการปิดทองที่องค์พระเลยแม้แต่น้อย
0 Response to "5 มหาบูชาสถาน พม่า"
แสดงความคิดเห็น